fbpx

ธุรกิจของคุณต้องการ รีแบรนด์ หรือแค่ รีเฟรช ก็พอ อันไหนดีกว่ากัน ?

7 September 2022

ธุรกิจหรือแบรนด์ที่ไม่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสอย่างมากที่จะกลายเป็นธุรกิจหรือแบรนด์ที่ล้าสมัย ในปัจจุบันนี้หลายแบรนด์ที่เปิดมาอย่างยาวนาน ก็มักจะไม่เกิดกระแสใหม่ ๆ หรือถูกพูดถึงในคนรุ่นใหม่ ๆ แล้ว ยกเว้นแต่ว่าธุรกิจนั้นจะได้รับการ รีแบรนด์ (Rebrand) หรือ รีเฟรช (Refresh) ใหม่เสียก่อนครับ

ตัวอย่างเช่น Apple เป็นตัวอย่างที่ดีของการรีแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จครับ เพราะในช่วงทศวรรษที่ 1990 ตอนนั้น Apple กำลังประสบปัญหากับยอดขาย จนทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดคอมพิวเตอร์ลดน้อยลง Apple จึงตัดสินใจปรับปรุงโลโก้เดิมจากสีรุ้งที่ดูล้าสมัย เป็นสีขาวดำที่ดูโฉบเฉี่ยวทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของแบรนด์ และแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องภาพลักษณ์ แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นยุคใหม่ของ Apple อีกต่างหาก ทุกวันนี้ Apple จึงได้กลายเป็นแบรนด์ที่ผู้คนรู้จักมากที่สุดแบรนด์หนึ่งของโลก

Apple Rebrand รีแบรนด์

แบรนด์รีเฟรช (Brand Refesh) คืออะไร ?

แบรนด์รีเฟรช หรือ รีเฟรชแบรนด์ คือกลยุทธ์ที่เน้นการปรับปรุงภาพลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) เช่น โลโก้ ฟอนต์ โทนสี สโลแกน หรือรูปแบบสไตล์การสื่อสาร เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและแนวโน้มของตลาดในปัจจุบัน โดยที่ยังคงแก่นของอัตลักษณ์ (Core Identity) และกลยุทธ์หลักของแบรนด์ไว้ แต่การทำแบรนด์รีเฟรชนี้ควรจะทำในตอนที่ธุรกิจยังดีอยู่ และมีแนวโน้มว่าจะสามารถไปต่อได้ในตลาด

แต่ในบางครั้งการทำแบรนด์รีเฟรชอาจจะยังไม่เพียงพอ บางธุรกิจนั้นจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสิ่งหลักเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาด จึงต้องใช้กลยุทธ์ต่อไปนั่นคือการ รีแบรนด์ ครับ

รีแบรนด์ (Rebrand) คืออะไร ?

รีแบรนด์ หรือ รีแบรนดิ้ง นั่นก็คือกลยุทธ์ที่ทำการเปลี่ยนแปลงแก่นของอัตลักษณ์ (Core Identity) และกลยุทธ์หลักของแบรนด์ทั้งหมดครั้งใหญ่ โดยทั่วไปจะใช้ก็ต่อเมื่อกลยุทธ์ในปัจจุบันของแบรนด์ล้มเหลวไม่สามารถไปต่อได้อีก จึงต้องทำการรีแบรนด์ใหม่ เพื่อทำให้ธุรกิจนั้นกลับมาชีวิตใหม่อีกครั้ง ให้สามารถยืนอยู่ในตลาดต่อไปได้ โดยสิ่งที่เปลี่ยนแปลงนั้นก็คือภาพลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) และยังรวมไปถึง

  • การวางจุดยืนของแบรนด์ (Brand Positioning)
  • การสร้างคุณค่าของแบรนด์ (Brand Values)
  • คัมภีร์หรือแนวทางในการสื่อสารของแบรนด์ (Brand Guidelines)
  • พันธกิจและวิสัยทัศน์ของแบรนด์ (Mission and Vision Statements)

แน่นอนว่าการจะทำสิ่งเหล่านี้ได้จะต้องใช้เวลานานพอสมควร และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ดังนั้นหากคุณต้องการจะเปลี่ยนแปลงในทันที และยังมีงบประมาณที่จำกัดอีก คุณต้องมาใช้กลยุทธ์แบรนด์รีเฟรชครับ

พูดให้เห็นภาพง่าย ๆ การทำแบรนด์รีเฟรช (Brand Refresh) เหมือนเป็นการปัดฝุ่น ปรับแต่งหน้าตาแบรนด์ให้ดูดีขึ้น ทันสมัยขึ้น แต่การทำรีแบรนด์ (Rebrand) นั้นคือเอาอันเดิมรื้อทิ้งไป แล้วทำขึ้นใหม่ จนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิมอีกต่อไปเลยครับ

กลยุทธ์แบรนด์รีเฟรช (Brand Refresh Strategy)

ขั้นตอนด้านล่างต่อไปนี้เป็นการวางกลยุทธ์ก่อน ผมอยากให้คุณลองคิดและทำตามทีละข้อ เพื่อทำให้การทำแบรนด์รีเฟรชของคุณประสบความสำเร็จครับ

1.กำหนดให้ชัดว่าต้องการรีแบรนด์หรือแบรนด์รีเฟรช

เหมือนอย่างที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้นครับ ว่าการรีแบรนด์ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่ใช่แค่เปลี่ยนโลโก้ หรือเปลี่ยนชื่อแบรนด์ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งหลัก ๆ ทั้งหมด ทั้งเป้าหมาย จุดยืน วิสัยทัศน์ หรือกลยุทธ์หลักของแบรนด์ ซึ่งทุกอย่างก็ต้องใช้ทั้งเวลาและเงินจำนวนมหาศาลครับ แล้วกรณีไหนบ้างล่ะ ที่ทำให้คุณจำเป็นต้องรีแบรนด์ ? นี่เป็นตัวอย่างบางส่วนครับ

  • แบรนด์ปัจจุบันของคุณมีเป้าหมาย สิ่งที่ยึดถือ แนวทางปฏิบัติ หรือกลยุทธ์ที่ล้าสมัยเกินไป ไม่เป็นไปตามความต้องการของตลาดในปัจจุบัน
  • แบรนด์กำลังจะเติบโตในประเทศ หรือกำลังขยายไปยังต่างประเทศ
  • ลูกค้ามีความสัมพันธ์เชิงลบกับแบรนด์ ภาพลักษณ์แบรนด์ดูแย่ หรือแบรนด์กำลังเสียชื่อเสียง

ถ้าแบรนด์คุณกำลังประสบกับสิ่งเหล่านี้อยู่ก็ควรรีแบรนด์ครับ แต่ถ้าไม่ใช่ก็ให้ดำเนินการแบรนด์รีเฟรชต่อไปแทนครับ

2.วิจัยตลาดและวิเคราะห์คู่แข่ง

เริ่มต้นจากวิจัยตลาดดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ แนวโน้มของตลาด และสิ่งกำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนั้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายด้วยครับ

อย่างต่อไปคือการวิเคราะห์คู่แข่ง ประเมินจุดแข็งและจุดอ่อน ดูว่าคู่แข่งมีจุดแข็งอะไรที่คุณต้องระวังให้ดีและหาทางเอาชนะให้ได้ แล้วจุดอ่อนอะไรที่คุณได้เปรียบอยู่และต้องหาทางรักษาเอาไว้ รวมไปถึงการเรียนรู้ไอเดียต่าง ๆ ของคู่แข่ง เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดและปรับใช้กับแบรนด์ของคุณให้อยู่เหนือกว่าคู่แข่งครับ

3.ระดมความคิดกับทีมงานของคุณเพื่อนึกถึงสิ่งที่ต้องการให้แบรนด์เป็น

ความรับผิดชอบในการทำแบรนด์รีเฟรชไม่ควรเป็นแค่หน้าที่ของคุณหรือหุ้นส่วนของคุณ แต่คุณควรจะรวบรวมทีมของคุณเพื่อช่วยกันหาไอเดียใหม่ ๆ สำหรับอนาคตของแบรนด์ต่อไป ต้องช่วยกันตัดสินใจว่าต้องทำอะไรบ้างเพื่อเพิ่มโอกาสทำให้แบรนด์ดูโดดเด่นหรือน่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น

  • โลโก้ (Logo) : ไม่ใช่แค่เปลี่ยน แต่หมายถึงการยกระดับโลโก้ ด้วยการปรับปรุงให้ดูทันสมัยมากขึ้น ให้มีเอกลักษณ์และโดดเด่นเหนือคู่แข่ง
  • ฟอนต์ หรือ แบบอักษร (Font) : เลือกใช้ฟอนต์ที่อ่านง่าย สบายตา สามารถเข้าถึงกับกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย เป็นมืออาชีพ และแตกต่างจากคู่แข่ง
  • ชุดโทนสี (Color Palette) : ใช้ชุดโทนสีให้สามารถสื่อถึงแบรนด์ได้ เป็นที่จดจำ ด้วยการใช้ทฤษฎีและจิตวิทยาการใช้สี
  • รูปแบบเนื้อหา (Content) : ปรับรูปแบบเนื้อหาให้แสดงให้เห็นถึงคุณภาพ และความฉลาดทางอารมณ์ของแบรนด์ ด้วยข้อความที่จริงใจและน่าเชื่อถือ พร้อมกับปรับรูปแบบการเขียนให้สอดคล้องกับความเป็นตัวตนของแบรนด์ เพื่อเป็นที่จดจำให้กับลูกค้าของคุณ

และถ้าให้ดีคุณควรคิดถึงแผนการของแบรนด์คุณในอนาคตด้วย เช่น มีแผนที่จะเติบโตในระดับประเทศหรือขยายไปยังต่างประเทศหรือไม่ ? หรือมีแผนที่จะขยายไปยังตลาดอื่น ๆ อีกหรือเปล่า ? ถ้าคุณมีแผนการเช่นนั้นอยู่ ให้รวบรวมไปคิดในการทำแบรนด์รีเฟรชครั้งนี้ด้วย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำใหม่อีกครั้งในอนาคตครับ

4.ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารกับลูกค้าของแบรนด์คุณ

ใช้โซเชียลมีเดียช่องทางต่าง ๆ ของแบรนด์ เช่น Facebook , Instagram หรือ Twitter เพื่อแจ้งลูกค้าของแบรนด์คุณว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น อาจจะมีการสำรวจความคิดเห็นว่า ลูกค้าของคุณอยากเห็นแบรนด์คุณมีหน้าตาเป็นอย่างไร จากนั้นก็รวบรวมความคิดเห็นต่าง ๆ นำไปเป็นส่วนประกอบในการปรับรูปลักษณ์ใหม่ของแบรนด์คุณครับ

5.ลองเปลี่ยนแปลงบางอย่างก่อนอย่างช้าๆ

เริ่มต้นจากบางอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนเช่น ลองเปลี่ยนฟอนต์หรือแบบอักษรที่ใช้ในงานต่าง ๆ ดู แล้ววัดผลว่าลูกค้าของแบรนด์คุณมีความคิดเห็นอย่างไร หากผลลัพธ์ที่ได้มานั้นเป็นเชิงลบมากเกินไป คุณควรหาสาเหตุว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แล้วนำมาปรับใหม่เพื่อทำให้การแบรนด์รีเฟรชของคุณสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นครับ

รักษาความสดใหม่ของแบรนด์

เมื่อคุณได้ทำการแบรนด์รีเฟรชเรียบร้อยแล้ว แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ทำครั้งนี้แล้วปล่อยไว้เฉย ๆ แต่สิ่งที่คุณควรทำคือการรักษาแบรนด์ของคุณให้ดูสดใหม่อยู่เสมอ คอยอัพเดตเทรนด์ ดูแนวโน้มของตลาด การเปลี่ยนแปลงของความต้องการลูกค้า ตามดูคู่แข่งอยู่เสมอ แล้วมาพิจารณาแบรนด์ของคุณว่าตอนนี้ดูล้าสมัยไปแล้วหรือยัง ถ้าใช่ก็แสดงว่าถึงเวลาทำแบรนด์รีเฟรชอีกครั้งแล้วล่ะ การที่คุณทำให้แบรนด์ดูสดใหม่อยู่เสมอ จะแสดงให้ลูกค้าของคุณเห็นว่าคุณใส่ใจกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่อยู่กับที่ และพร้อมพัฒนาให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลาอีกด้วยครับ

ตอนนี้คุณน่าจะพอนึกออกแล้วใช่ไหมครับว่า ธุรกิจของคุณต้องการ “รีแบรนด์” หรือ “แบรนด์รีเฟรช” หรือถ้ายังไม่แน่ใจ คุณก็ลองวิเคราะห์ทั้งข้อดีและข้อเสียให้ดีก่อน แล้วตัดสินใจอีกที แต่ไม่ว่าสุดท้ายแล้วคุณจะต้องการ “รีแบรนด์” หรือ “แบรนด์รีเฟรช” คุณก็สามารถค่อย ๆ ทำด้วยตัวคุณหรือทีมของคุณเองได้ แต่ถ้าอยากให้เรา (FULLFUEL) ทำให้ เราก็พร้อมที่จะดูแลธุรกิจของคุณด้วยใจรักครับ

สนใจ รีแบรนด์ หรือ แบรนด์รีเฟรช กับเรา

สามารถฝากข้อมูลไว้ได้เลย แล้วเราจะติดต่อกลับหาคุณอย่างเร็วที่สุด

AUTHOR

Tossapon Ch.

Tossapon Ch.

Co-Founder / CEO

เริ่มต้นโปรเจคท์กับเรา

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึก